จุดเริ่มต้นในการรีโนเวทบ้านพักอาศัยของครอบครัวใหญ่ที่มีขนาด 200 ตารางเมตรหลังนี้ มีที่มาจากลูกชายของผู้เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งมีการขยับขยายสร้างครอบครัวเป็นของตัวเอง จึงต้องการปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านหลังเดิมที่มีอายุราว 30 ปี ให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบันของทุกคนในครอบครัวได้อย่างลงตัว โดยการดีไซน์สเปซโฉมใหม่ภายในบ้านออกเป็น 3 ส่วนหลัก ซึ่งประกอบด้วย สตูดิโอสำหรับทำงาน พื้นที่สำหรับการพักอาศัย และ
ห้องนอนหลัก ภายใต้การออกแบบดูแลของ
"คุณฐนิตพัฒน์ ธนาวุฒิมนัส" จาก
Studio Path ที่เข้ามาทำหน้าที่หลักในการดีไซน์สเปซภายในบ้านหลังนี้ให้มีลุคใหม่ที่ลงตัวกับไลฟ์สไตล์อย่างแท้จริง
พื้นที่ใช้งานในบริเวณชั้นล่างของบ้านมาพร้อมส่วนใช้สอยขนาด 125 ตารางเมตร ซึ่งมีการจัดวางสเปซเป็นพื้นที่สำหรับส่วนพักผ่อน และสตูดิโอออกแบบสำหรับทำงานแบรนด์เสื้อผ้า ซึ่งภรรยาของลูกชายผู้เป็นเจ้าของบ้านเป็นผู้ใช้งานสเปซนี้เป็นหลัก และเนื่องด้วยข้อจำกัดเดิมของบ้านที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงทำให้ "คุณฐนิตพัฒน์ ธนาวุฒิมนัส" นักออกแบบจาก Studio Path ตัดสินใจออกแบบเพิ่มช่องแสงใหม่เพื่อดึงแสงสว่างจากภายนอกเข้าสู่พื้นที่ใช้งานภายในบ้าน ด้วยการดีไซน์ช่องแสงภายในสตูโอสำหรับทำแบรนด์เสื้อผ้าให้มาพร้อมฟังก์ชันใช้งานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการ โดยการใช้กระจกลอนลูกฟูกมาเป็นตัวช่วยหลักเพื่อดึงแสงธรรมชาติจากด้านบนเข้าสู่พื้นที่ใช้งานด้านในสตูดิโอ หรือหากต้องการปิดกั้นแสงสว่างจากภายนอกที่สว่างจ้าจนเกินไป ก็มีการเพิ่มฟังก์ชันผ้าม่านสำหรับรูดปิดพื้นที่ใช้สอยในบริเวณให้เปิดรับแสงน้อยลงได้ตามการใช้งาน
นอกจากปัญหาแสงสว่างเข้าสู่พื้นที่ในบ้านไม่เพียงพอแล้ว พื้นที่ใช้งานเดิมภายในบ้านหลังนี้ยังมีการออกแบบคานที่ไม่เป็นระเบียบ ซึ่งจะมีความลึกที่แตกต่างกันไปจนเกิดเป็นจังหวะของการจัดวางเส้นสายที่มีความไม่สมูทต่อเนื่องกัน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดเป็นแนวคิดในการออกแบบฝ้าทรงโค้งมนในแต่ละพื้นที่ใช้สอย เพื่อปิดซ่อนความไม่งามให้อยู่ภายใต้ความงามรูปโฉมใหม่ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มากกว่าเดิม ซึ่งนอกจากดีเทลความโค้งมนของฝ้าเพดานที่ช่วยเพิ่มความสมูทให้พื้นที่ภายในบ้านเดิมสามารถเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้นแล้ว ยังมีการติดตั้งไฟซ่อนตามแนวฝ้าเพดานโค้งมน ซึ่งสามารถสร้างบรรยากาศแห่งการอยู่อาศัยให้พื้นที่ในบ้านดูงดงามและดูลื่นไหลต่อเนื่องเป็นสเปซเดียวกัน
สำหรับพื้นที่ภายใน
ห้องนอนหลักบริเวณชั้นสองของบ้านที่มีขนาด 75 ตารางเมตร ได้รับการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยเป็นส่วนนั่งเล่นพักผ่อน มุมเตียงนอน โซน Walk-in closet และ
ห้องน้ำส่วนตัวภายใน
ห้องนอน โดยข้อจำกัดในการออกแบบพื้นที่ใช้สอยในบริเวณนี้คือการคงตำแหน่งทางเข้าหลักและท่อน้ำภายใน
ห้องน้ำไว้เช่นเดิม อีกทั้งยังมีปัญหาแสงธรรมชาติที่ไม่สามารถส่องผ่านเข้าสู่พื้นที่ใช้งานได้อย่างทั่วถึง จึงทำให้นักออกแบบจาก
Studio Path ตัดสินใจออกแบบเจาะช่องหน้าต่างเพิ่มเติม เพื่อนำแสงสว่างเข้าสู่พื้นที่ด้านในได้มากขึ้น โดยวัสดุประตูหน้าต่างที่เลือกนำมาตกแต่งพื้นที่ใช้งานในบริเวณนี้เป็นกระจกลูกฟูกที่สามารถเปิดรับแสงสว่างได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวในการพักผ่อนภายในห้อง นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มดีเทลความพิเศษให้กับ
ห้องนอนขนาดใหญ่ที่มีสเปซกว้างขวาง โดยการสร้างพื้นยกระดับบริเวณส่วนพักผ่อนเพื่อแบ่งโซนการใช้งานจากมุมอื่นภายใน
ห้องนอนหลัก ซึ่งวัสดุที่ถูกนำมาใช้ตกแต่งในบริเวณนี้จะประกอบไปด้วยวัสดุที่มีสัมผัสเป็นธรรมชาติ เพื่อสะท้อนถึงบรรยากาศอันอบอุ่นที่ลงตัวกับการพักผ่อนทุกเวลา
แม้พื้นที่ภายในบ้านจะมาพร้อมดีไซน์ที่มีความทันสมัย แต่ก็โดดเด่นไปด้วยสัมผัสของธรรมชาติที่รายล้อมอยู่ในการ
ตกแต่งบ้าน จึงทำให้ทุกพื้นที่ภายในบ้านหลังนี้มีบรรยากาศอบอุ่น ชวนผ่อนคลาย และให้ความรู้สึกถึงบ้านแห่งความสุขในทุกอณู ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ใช้งานภายใน
ห้องน้ำที่มีการเลือกใช้กระเบื้องดินเผาลำปางเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในงานตกแต่ง ซึ่งนอกจากโทนสีของกระเบื้องดินเผาจะช่วยสร้างบรรยากาศความอบอุ่นให้กับพื้นที่ใช้งานแล้ว ยังสามารถสะท้อนเสน่ห์ความเป็นไทยที่สอดแทรกอยู่ใน
ห้องน้ำของบ้านได้อย่างลงตัวกับวัสดุสมัยใหม่เป็นอย่างดี
หากสนใจผลงานออกแบบ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่
Studio Path ผู้ออกแบบ : คุณฐนิตพัฒน์ ธนาวุฒิมนัส จาก Studio Path
โทร : 081-654-4635
Email : thanipath@gmail.com